อุโบสถมิตรภาพไทย อเมริกัน วัดปากน้ำ อุบล
อุโบสถมิตรภาพไทย-อเมริกัน บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง อุบลราชธานี. เมื่อทหารหน่วยครีเอชั่น ของกองทัพสหรัฐอเมริกา เข้าประจำการที่ ฐานบินอุบลราชธานี ในภารกิจซ่อมบำรุงบ้านเมืองที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากสงคราม ได้ให้ความช่วยเหลือในการสร้างอาคารเรียนคอนกรีตหลังแรกของหมู่บ้านจนเสร็จสมบูรณ์ ทหารสหรัฐอเมริกายังได้ช่วยเหลือในการสร้างอุโบสถอีกด้วย โดยให้อิฐ หิน ปูน ทราย ต่างๆ มา จนแล้วเสร็จเป็นรูปร่าง พระมงคลธรรมวัฒน์เล่าว่า “สิ่งที่เป็นความหวังของท่านซึ่งมีอยู่ตลอดมา คือ ต้องการสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้นใช้แทนหลังเดิมซึ่ง ทรุดโทรมมากแล้ว โดยอยากให้เป็นอุโบสถลงรักปิดทองอย่างวัดใน กรุงเทพฯ”
ก่อนหน้านี้ท่านเคยลงไปกรุงเทพฯ หลายครั้ง ไปฝากลูกศิษย์เรียนหนังสือบ้าง ไปเยี่ยมลูกศิษย์บ้าง และชอบเดินดูอุโบสถตาม วัดใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ ซึ่งล้วนแต่วิจิตรสวยงาม แล้วก็ตั้งความหวังว่า จะต้องสร้างโบสถ์อย่างนี้ให้ได้ แต่ปัญหาที่สำคัญ คือ การหาทุนสร้างอุโบสถขณะที่บ้านเมืองเพิ่งพ้นจากภาวะสงครามใหม่ๆ เป็นสิ่งที่อยู่ไกลเกินความเป็นจริง สิ่งที่ท่านคิดว่าเป็นเรื่องยากกลับกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นมา เพราะก่อนที่หน่วยครีเอชั่นของทหารสหรัฐอเมริกาจะถอนกำลังออกจาก ฐานทัพอุบลราชธานี ได้เสนอที่จะให้ความช่วยเหลือท่านในการพัฒนาวัด พระมงคลธรรมวัฒน์ไม่รีรอในการตัดสินใจ ท่านเลือกที่จะสร้างอุโบสถ ซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านปรารถนา และเป็นสิ่งที่สร้างได้ยากมากในต่างจังหวัด. และแล้วเหล็ก อิฐ หิน ปูน ทราย อันเป็นอุปกรณ์ในการสร้างโบสถ์ก็ถูกลำเลียงเข้าสู่หมู่บ้านแห่งนี้อีกครั้ง ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจการสร้างโรงเรียน และเป็นภารกิจสุดท้ายในฐานทัพอุบลราชธานี ของทหารหน่วยครีเอชั่น หน่วยพัฒนาเคลื่อนที่และปฏิบัติการด้านจิตวิทยา ของกองทัพสหรัฐอเมริกา พระมงคลธรรมวัฒน์เลือกนายช่างที่มีฝีมือดีที่สุด ของจังหวัดอุบลราชธานี บรรจงออกแบบอุโบสถที่มีขนาดเล็กเหมาะแก่การประกอบสังฆกรรมของพระสงฆ์ในต่างจังหวัด แต่คงความวิจิตรงดงามอ่อนช้อยประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงษ์ตามแบบอย่างอุโบสถกรุงเทพมหานคร ลวดลายที่สลักเสลาบานประตูและหน้าต่าง เลือกช่างหลวงจากเวียงจันทน์เป็นผู้ออกแบบและสับลาย ท่านเล่าถึงการออกแบบลายประตูหน้าต่างอุโบสถว่า ไม่มีวัดไหนเหมือนที่นี่ เพราะช่างที่ทำเป็นช่างหลวงจากเวียงจันทน์ ตอนแรกไปเจอลายที่หนองคาย นึกชอบอยากจะได้ลายอย่างนี้บ้าง แต่ก็ไม่รู้ว่า ช่างไหนเป็นคนทำ อยู่ต่อมา ก็มีคนมาหาแล้วบอกว่ามีคนไปบอกให้มาทำประตูหน้าต่างให้หลวงพ่อ ปรากฏว่าเป็นช่างหลวงหนีข้ามมาอยู่ ฝั่งไทยเพราะเวียงจันทน์แตก อุโบสถหลังนี้จึงเกิดจากการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรม แบบกรุงเทพฯ อุบลราชธานีและเวียงจันทน์เข้าด้วยกัน มีความ งดงามอย่างลงตัว อุโบสถสำเร็จเป็นรูปร่างในระยะเวลาอันสั้น พร้อมกับการ ถอนตัวออกจากฐานบินอุบลราชธานีของทหารหน่วยครีเอชั่น กองทัพสหรัฐอเมริกา แต่ความหวังของพระมงคลธรรมวัฒน์ยังไม่สัมฤทธิ์ผล ตราบใดที่อุโบสถหลังนี้ ยังไม่ได้ลงรักปิดทองอย่างวัดในกรุงเทพฯ ตามความปรารถนา ชาวบ้านต่างเรียกร้องให้มีพิธีสมโภชอุโบสถ แต่ท่านก็ปล่อยอุโบสถหลังนี้ค้างไว้ เฝ้ารอความหวังครั้งใหม่อยู่อย่างเงียบๆ ในขณะเดียวกันก็ได้พัฒนางานด้านอื่นต่อไปไม่หยุดนิ่ง.เพราะความที่พระมงคลธรรมวัฒน์รักในถิ่นฐานบ้านเกิด ความคิดของท่านจึงเต็มไปด้วยการพัฒนา ท่านได้เดินทางไปกรุงเทพฯ หลายครั้ง มีโอกาสได้เห็นโบสถ์วิหารของวัดในกรุงเทพ ท่านจึงตั้งใจที่จะสร้างโบสถ์ให้มีความวิจิตรงดงามดังเช่นวัดในกรุงเทพ. ในขณะที่อุโบสถหลังเก่าเริ่มผุพังลงตามกาลเวลา จนไม่สามารถซ่อมแซมได้ อุโบสถหลังใหม่ที่ทหารอเมริกันให้ความช่วยเหลือ ในการสร้างก็ยังขาดทุนทรัพย์ ไม่สามารถดำเนินการสร้างต่อให้เสร็จสมบูรณ์ได้ ในภาวะจิตที่คิดจะหาทุนมาดำเนินการสร้างโบสถ์ต่อให้ แล้วเสร็จ ค่ำคืนหนึ่ง ท่านเกิดนิมิตไปว่า มีชายคนหนึ่งใส่ชุดขาว เหมือนตาปะขาวถือพานดอกไม้ธูปเทียนเข้ามานั่งคุกเข่าตรงหน้าท่าน บอกว่าท่านเป็นเจ้าของสถานที่แห่งนี้ ตัวเขาจึงหมดภาระหน้าที่แล้ว ต้องการไปเกิด แต่ต้องอาศัยบุญที่ยิ่งใหญ่ถึงจะไปเกิดได้ จึงขอให้ท่านสร้างโบสถ์ต่อให้เสร็จ และขอให้อุทิศส่วนกุศลให้ตัวเขาด้วย ในนิมิตพระมงคลธรรมวัฒน์ได้แย้งว่า ท่านไม่สามารถที่จะสร้างโบสถ์ให้เสร็จได้ในขณะนี้ เพราะยังไม่มีเงิน ซึ่งต้องใช้ปัจจัยอีกจำนวนมาก ตาปะขาวบอกท่านว่าเป็นหน้าที่ของเขาที่จะช่วยเหลือ แต่ขอให้ท่านรับปากว่าจะสร้างโบสถ์ให้แล้วเสร็จ พระมงคลธรรมวัฒน์บอกว่า ท่านทำให้ได้ แต่จะให้ท่านทำอย่างไร ตาปะขาวจึงบอกให้ไปขุดเอาของมีค่าที่วัดป่าพิฆเณศวร์ ขึ้นมาเป็นทุนในการสร้างโบสถ์. เช้าวันนั้น พระมงคลธรรมวัฒน์ ตื่นนอนด้วยความรู้สึกชุ่มชื่นเบิกบานใจ และเต็มไปด้วยความหวังอันงดงามว่า น่าจะเป็นนิมิตดีที่บ่งบอกว่า ท่านจะสามารถสร้างอุโบสถหลังนี้ให้แล้วเสร็จได้ตามความประสงค์ แม้จะยังมองไม่เห็นหนทางว่าจะสำเร็จด้วยวิธีใด.ท่านพยายามลำดับเหตุการณ์จากวันที่คิดจะสร้างอาคารเรียน ให้กับโรงเรียนในหมู่บ้าน ตลอดจนสร้างอุโบสถหลังใหม่ในวัด สิ่งเหล่านี้ก็สำเร็จได้โดยไม่คาดฝัน แต่เพราะท่านเป็นคนเกรงใจ เห็นความทุกข์ยากลำบากของชาวบ้าน จึงไม่อยากรบกวนใครๆ แต่ก็มีเหตุการณ์บางอย่างชักนำให้เกิดสิ่งแปลกประหลาดขึ้น สามารถสร้าง อาคารเรียน และอุโบสถหลังใหม่ขึ้นโดยที่แทบจะไม่ได้ใช้เงินเลย พระมงคลธรรมวัฒน์เก็บนิมิตและความครุ่นคิดต่างๆ ไว้ในใจอย่างเงียบๆ วันหนึ่งท่านตัดสินใจไปพบครูบาอาจารย์ที่เคารพนับถือ และได้กราบเรียนให้ทราบถึงนิมิตเช่นนี้ ครูบาอาจารย์ก็ได้นำผู้ที่มีญาณมาตรวจดู ก็เห็นจริงตามนิมิต พระมงคลธรรมวัฒน์ตั้งเครื่องสักการบูชาน้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย คุณครูบาอาจารย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย อธิษฐานจิตด้วยความสุจริตใจว่า.“หากสิ่งของมีจริงตามนิมิตก็จะนำขึ้นมาเฉพาะเท่าที่ใช้ใน การดำเนินการสร้างอุโบสถให้แล้วเสร็จเท่านั้น มากกว่านี้ไม่ต้องการ” ในที่สุด พระมงคลธรรมวัฒน์ได้นำชาวบ้านเข้าบูรณะวัดร้างแห่งนี้ และได้สิ่งของขึ้นมาตรงตามนิมิตทุกประการ นอกจากสิ่งของมีค่าแล้ว ก็ยังพบข้าวของเครื่องใช้อีกหลายอย่าง พร้อมทั้งกระดูกของคนที่ถูกฝังอยู่ในผืนดินนั้นด้วย พระมงคลธรรมวัฒน์ได้สร้างพระพุทธรูปและนำสิ่งของบางอย่างบรรจุไว้ใต้ฐานพระพุทธรูป และได้สร้างเจดีย์สำหรับบรรจุกระดูกดังกล่าวไว้ที่วัดป่าพิฆเณศวร์นั้น พร้อมทั้งทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ตามประเพณีนิยม ท่านสรุปเหตุการณ์ในช่วงนี้ว่า “ท่านมาเข้าฝันหลวงพ่อ หลวงพ่อชี้ให้ขุดตรงไหน ขุดลงไปก็เจอของตรงนั้น แสดงว่าท่านอยากให้” การขุดพบสิ่งของดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาขึ้นว่า จะทำอย่างไรกับสิ่งของดังกล่าว ท่านจึงได้แจ้งไปยังอำเภอ เจ้าหน้าที่ของอำเภอและฝ่ายการศึกษาก็มาหารือร่วมกันเพื่อหาข้อสรุป ในที่สุด ทางอำเภอได้เสนอว่า ควรให้มีการดำเนินการไปตามที่ท่านนิมิต คือ ให้นำไปใช้ในการดำเนินการสร้างอุโบสถต่อไป โดยเขียนรายงานบันทึกไว้เป็น หลักฐานส่งไปยังอำเภอว่า ได้มีการบูรณะวัดร้างแห่งหนึ่งและขุดค้นพบสิ่งของเหล่านี้ โดยอยู่ในความดูแลของทางวัด ซึ่งท่านก็ได้ปฏิบัติตามนิมิตทุกประการ ในขณะเดียวกัน ก็มีเจ้าหน้าที่บางคนแอบขโมยเอาของบางอย่างไป แต่ยังไม่ทันข้ามคืนก็ต้องเอากลับมาคืน ในที่สุด พระมงคลธรรมวัฒน์ก็ได้ดำเนินการสร้างอุโบสถต่อ และสามารถสร้างอุโบสถลงรักปิดทองได้แล้วเสร็จดังความตั้งใจ
หนังสือ “ประทีปธรรมแห่งแม่มูล” . ญาณวชิระ, พิมพ์ครั้ง ๑, วชิราสำนักพิมพ์, ๒๕๔๙.