แห่นางดั้ง การแห่นางด้ง – นางควาย ประเพณี อีสาน ขอฝน
ชาวบ้านปากน้ำหมู่ ๓ และ ๑๐ ทำพิธี ๓ คืน แห่นางดั้ง การแห่นางด้ง – นางควาย ประเพณี อีสาน ขอฝน โดยการนำของผู้เฒ่า ผู้แก่ในหมู่บ้านมาทำพีธีขอฝนให้ตกลงมาตามฤดูกาล
ความเป็นมาของการแห่นางดั้ง การแห่นางด้ง – นางควาย เป็นประเพณีพื้นบ้านของชาวอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลกเป็นประเพณีเกี่ยวกับการขอฝน อันเกี่ยวข้องกับความเจริญงอกงามของพืชพันธุ์ธัญญาหาร เพราะชาวนครไทยสมัยโบราณมีอาชีพในการทำไร่ทำนากันทุกครัวเรือน ดำรงชีวิตอยู่ด้วยธรรมชาติอย่างแท้จริง ซึ่งการที่จะให้พันธุ์พืชเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ ต้องอาศัยน้ำจากฝนที่ตกต้องตามฤดูกาล ถ้าฝนห่างฟ้าไปจะเกิดความแห้งแล้งขึ้น ดังนั้นเพื่อให้ฝนตกลงมาให้ความชุ่มชื้นแก่ไร่นา ชาวบ้านจึงร่วมกันทำพิธีกรรมตามความเชื่อที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ เพื่อให้ผีสางที่แฝงอยู่ในธรรมชาติช่วยดลบันดาลให้ฝนตกลงมาตามต้องการ ประกอบกับการแห่นางด้ง – นางควาย ยังมีเพลงประกอบอันเป็นเพลงพื้นบ้านที่ใช้สำหรับขอฝน
“ขั้นตอนและวิธีการแห่นางด้ง-นางควาย”
ขั้นตอนและวิธีการแห่นางด้งนั้นมีรูปแบบลักษณะเป็นการเสี่ยงทายด้วย “ผีนางด้ง” ที่จะมาเข้าทรงกับผู้หญิงซึ่งเป็นร่างทรง โดยมีอุปกรณ์การเล่น คือ กระด้งฝัดข้าว 2 ใบ สากไม้ตำข้าว 2 อัน และอุปกรณ์ในการเชิญผีนางด้ง ได้แก่ หมากพลู ดอกไม้ ธูปเทียน น้ำ แป้งหอม ข้าวสุก พริก เกลือ
ส่วนวิธีการเล่นเริ่มด้วยการนำสาก 2 อัน วางกลับกันไว้ตรงกลางวงสมมุติให้เป็นเจ้าบ่าวของนางด้ง มีคนทรง 2 คน ซึ่งเป็นคนพิเศษที่เคยทำพิธีมาแล้ว หรือมีการถ่ายทอดการเป็นคนทรงเจ้า แล้วจากนั้นก็ยืนจับกระด้งไว้คนละใบ มีชาวบ้านหญิงชาย ยืนล้อมวงคนทรง แล้วมีคนทรงซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน ซึ่งเคยทำพิธีนี้มาก่อนแล้ว เป็นผู้มาทำพิธีเชิญและนำการร้องเพลงเชิญ (นำเชิด) ส่วนชาวบ้านที่ยืนล้อมวงจะช่วยกันร้อง เพื่อเชิญให้ผีนางด้งมาเข้าสิงที่กระด้ง ซึ่งคนทรงจะจับเอาไว้ เมื่อผีนางด้งมาเข้าสิงที่ร่างคนทรงก็จะจับกระด้งสั่น และพากระด้งร่อนไปเรื่อยๆ
จากนั้นชาวบ้านจะเสี่ยงทายหาของ (มักตักน้ำใส่ภาชนะไปซ่อนเอาไว้) เมื่อซ่อนเสร็จแล้วเกิดผีนางด้งหาเจอ แสดงว่าปีนั้นฟ้าฝนจะบริบูรณ์และตกต้องตามฤดูกาลดีหรือบางครั้งจะเสี่ยงทายในปีนี้ว่าฝนจะตกดีหรือไม่ถ้าหากฝนตกดีให้นางด้งฝัดข้าวแรงๆ หรือบางทีก็ให้นางด้งร้องรำทำเพลงให้ดู เพราะผีนางด้งจัดว่าเป็นผีที่รักสนุก และเมื่อเล่นกันจนพอใจแล้ว คนเชิญจะขอให้นางด้งหยุด แล้วจึงเข้าไปเป่าหูของนางทรง ผีนางด้งก็จะออกจากร่างทรงไป
สำหรับเพลงที่ใช้ร้องในพิธีแห่นางด้งนั้น ต้องร้องอัญเชิญเทวดาก่อนจึงจะเข้าเนื้อร้องได้สำหรับตัวอย่างของเพลงนางด้งมีดังต่อไปนี้
เชิญเอยเชิญลง เชิญพระองค์เทวดา
องค์ไรศักดิ์สิทธิ์ ให้เนรมิตลงมา
เข้าตัวน้องข้า เจ้าคนทรงเอยฯ
นางด้งเอย เข้าป่าระหง
เข้าด้งไม้หมาก เข้าสากไม้แดง
ข้าวแดงแมงเม่า กระดังฝัดข้าว
พือๆ พายๆ ทำดิน ทำราย
มาให้ต้ำเต้า ขอเชิญพระเจ้า มาเข้านางด้งเอยฯ
ลงมาแล้วเว้ย ลงมาแล้ววา
ลงมาไม่ได้ ไต่ด้ายลงมา
ลงมาไม่รอด กอดไม้ลงมา
ลงมากินปลา ไอ้เข้ฟันดำ
ลงมาเล่นน้ำ พ่อเอ๋ยเชิญลงมา
ขอเชิญเทวดา องค์ไหนศักดิ์สิทธิ์
ให้เนรมิตลงมา เข้าตัวน้องข้า พระยาด้งเอยฯ
ส่วนการเล่นนางควายก็มีวิธีการเล่นเช่นเดียวกับนางด้ง มีลักษณะเป็นการเสี่ยงทาย โดยมีอุปกรณ์ที่ใช้เล่น ได้แก่ เขาควายเขางามๆ 2 หัว นำมามัดให้แน่นหนากับท่อนไม้ขนาดเท่าไม้พลอง แล้วสมมุติให้เป็นควาย 2 ตัว มีอุปกรณ์ที่ใช้ในการเชิญ คือ ดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู น้ำ แป้งหอม
สำหรับวิธีการเล่น จะมีคนทรงสองคนจับปลายไม้ที่มีหัวควายผูกติดอยู่ตรงกลางวง มีชาวบ้านชายหญิง ยืนล้อมวง คนเชิญจะทำพิธีร้องเพลงเชิญผีนางควายให้มาเข้าสิงที่หัวควาย คนทรงที่จับไม้จะมีอาการเหมือนควายเปลี่ยว ส่วนคนเชิญก็จะร้องเสี่ยงทาย ว่าปีนี้ฝนจะตกดีไหม ถ้าหากว่าฝนจะตกดีในปีนี้ขอให้ควายชนกัน ยิ่งถ้าฝนตกหนักก็จะยิ่งชนกันแรงมาก เมื่อคนทรงเห็นว่าเล่นกันจนพอแล้วก็จะเชิญผีนางควายออกจากร่างโดยวิธีการเป่าหูคนทรง ผีนางควายก็จะออกจากร่างทรงในที่สุด
สำหรับเพลงที่ใช้ร้องในพิธีแห่นางควายนั้น ใช้ทำนองเดียวกัน จะแตกต่างกันตรงเนื้อร้อง ส่วนวิธีการเล่นก็เหมือนกัน แตกต่างกันแต่อุปกรณ์ที่ใช้เล่นเท่านั้น เพลงที่ร้องก็เช่นกันต้องร้องอัญเชิญเทวดาก่อนจึงจะเข้าเนื้อร้องได้ ตัวอย่างของเพลงนางควายมีดังต่อไปนี้
นางควายเอ๋ย นางควาย หางดอก
ขยอกเป็นปั้น จับหางยักคิ้ว
จับงิ้วส่ายโยก น้ำท่วมโคก ไหลมา ซะๆ
กะตะเปลวปลา กระลังเคงๆ
เคงๆ เอ๋ยผ้าหัวควายเจ้า เข้าหัวควายเอง
ควายนักเลง มาหาเพื่อนเล่น
ควายเยาะควายเย้ย เสมอควายเอย
เชิญเอ๋ยเชิญลงมา เชิญพระองค์เทวดา
องค์ไหนศักดิ์สิทธิ์ ให้เนรมิตลงมา
จากตัวอย่างของเพลงประกอบพิธีแห่นางด้ง – นางควาย เป็นเพลงพื้นบ้านของคนไทยตามชนบทของชาวนครไทยที่หาชมได้ยากแล้ว ควรที่จะมีการอนุรักษ์ให้อยู่ตลอดไป รวมทั้งการแห่นางด้ง – นางควายด้วยเช่นกัน..
ภาพ และ ข่าวสารจากเฟส Phra Sman Thawaro
https://www.facebook.com/puenkul