บุญผะเหวด “งานบุญมหาชาติ” บุญเดือนสี่
บุญผะเหวด “งานบุญมหาชาติ ” ของ ชุมชน ปากน้ำ บุ่งสระพัง จะ จัดตรงกัน กับ งานประเพณี แห่หลวงพ่อเงิน ประจำทุกปี ระหว่าง วันที่ 12-13-14 เมษายน ทุกปี. บุญผะเหวด “พระเวส” หมายถึงพระเวสสันดร (บุญเดือนสี่ ) หลายคนคงจะสงสัยอยู่ว่าคำว่า “ผะเหวด” มีความหมายอย่างไร คำว่า “ผะเหวด” นั้นเป็นการออกเสียงตามสำเนียงอีสาน มาจากคำว่า “พระเวส” หมายถึงพระเวสสันดร งานบุญผะเหวดเป็น 1 ในประเพณี 12 เดือน หรือ ฮีตสิบสอง ของชาวอีสาน (การทำบุญประเพณี 12 เดือน) ประเพณีบุญผะเหวดหรือบุญเดือนสี่นั้น สะท้อนให้เห็นถึง ความศรัทธาอันแรงกล้าในพระพุทธศาสนา ซึ่งชาวอีสานยึดถือและปฏิบัติกันมาช้านานและอย่างเคร่งครัด เพราะถือว่าเป็นงานบุญใหญ่ที่สุดก็ว่าได้. การจัดงานบุญผะเหวดนั้นอยู่ที่การเทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดกหรือเทศน์มหาชาติ มีจำนวนทั้งหมด 13 กัณฑ์ โดยชาวอีสานมีความเชื่อว่าถ้าหากว่าฟังเทศน์ครบทั้งหมดวันเดียว และจัดเตรียมเครื่องคาย (บูชา) ได้ถูกต้อง ก็จะได้เกิดในศาสนาพระอริยเมตไตรย แต่ถ้าหากตั้งเครื่องคาย (บูชา) ไม่ถูกต้อง จะทำให้เกิดอาเพศและสิ่งไม่ดีต่างๆ ตามมา จึงทำให้ทุกคนในหมู่บ้าน ให้ความสำคัญกับงานนี้อย่างมาก โดยจะมาทำพิธีร่วมกันอีกประการหนึ่ง คือ เพื่อระลึกถึงพระเวสสันดร พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญเพียรบารมีชาติสุดท้ายของพระองค์ก่อนจะเสวยชาติ และตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในภายหลัง นอกจากการฟังเทศน์มหาชาติแล้ว ประเพณีนี้ยังได้แฝงความเชื่อหลายประการไว้ด้วย คือ ความเชื่อในเรื่องพระอุปคุต อันเป็นพระผู้รักษาพิธีต่างๆ ให้ดำเนินไปอย่างราบรื่นตังแต่ต้นจนจบ โดยเชื่อกันว่าในการทำบุญแต่ละครั้งจะมีมารเข้ามาขัดขวางทำลายพิธี ชาวพุทธจึงต้องนิมนต์พระอุปคุตมาร่วมพิธีด้วย เพื่อช่วยขจัดอันตรายต่างๆ และเกิดความสวัสดิมงคลอีกด้วย การนิมนต์พระอุปคุตจะเริ่มทำก่อนวันเทศน์มหาชาติหนึ่งวัน เรียกว่า “มื้อโฮม (วันสุกดิบ)” ในตอนบ่ายจะทำพิธีแห่พระเวสส์ (พระเวสสันดร) เข้าเมือง หลังจากนั้นจะนิมนต์พระอุปคุตมาสถิต ณ บริเวณพิธี โดยมีขบวานแห่ดอกไม้ ธูป เทียน ขันห้าหรือขันแปด ไปยังสระน้ำที่อยู่ใกล้ๆ แล้วผู้อาวุโสจะหยิบก้อนหินจากสระน้ำถาม 3 ครั้ง ก่อนจะนำหินมาสถิตๆ ไว้ยัง “หอพระอุปคุต” (สมมุติว่าหินนั้นเป็นพระอุปคุต) โดยกำหนดหอพระอุปคุตเป็นศาลเพียงตา หรือทำหิ้งบูชาอยู่ในมณฑลพิธี ซึ่งจะมีเครื่องบูชาต่างๆ ได้แก่ บาตรพระ, ขันห้าหรือขันแปด, ผ้าไตรจีวร, พานหมากและพานยาสูบ, ร่มกางกันแดด, น้ำดื่มและกระโถน วางไว้
ความเป็นมา ประเพณี บุณผะเหวด หรือ บุญมหาชาติ
บุณผะเหวด หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า บุญมหาชาติ เป็นประเพณีบุญตามฮีตสิบสองของชาวอีสาน แต่ถ้าถือเป็นเรื่องทาน ก็เป็นประเพณีการบริจาคทานครั้งยิ่งใหญ่ ในตำนานฮีตสิบสอง ได้กล่าวถึงการทำบุญผะเหวด ไว้ว่า “ฮอดเดือน ๔ ให้พากันเก็บ ดอกจาน สานบั้งไม้ไผ่เสียบดอกจิก ” ก็พอจะอนุมานได้ถึงสภาพทั่วไปของชาว อีสานว่า ดอกจิก ดอกจาน บานราวต้นเดือนสาม พุทธศาสนิกชนจะเก็บดอกไม้เหล่านี้ มาร้อยเป็นมาลัยเพื่อตกแต่งศาลาการเปรียญสำหรับบุญมหาชาตินี้เอง และในงานนี้ ก็จะมีการเทศน์มหาชาติ ซึ่งถือว่าเป็นงานอันศักดิ์สิทธิผู้ใดฟังเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียว และบำเพ็ญคุณงามความดี จะได้อานิสงส์ ไปเกิดในภพพระอริยเมตไตรย์
ชาวอีสาน จะจัดทำบุญผะเหวด ปีละหนึ่งครั้ง ระหว่างเดือน ๓ เดือน ๔ ไปจนถึงกลางเดือน ๕ โดยจะมีวันรวม ตามภาษาอีสาน เรียกว่า วันโฮมบุญ พุทธศาสนิกชนมาช่วยกันจัดตกแต่งศาลา หรือสถานที่ที่จะทำบุญ จัดเตรียมเครื่องสักการะ ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวตอก อย่างละพันก้อน มีการตั้งธงใหญ่ ไว้แปดทิศ และมีศาลเล็กๆ เป็นที่เก็บข้าวพันก้อน และเครื่องคาวหวาน สำหรับ ผี เปรต และมาร รอบๆ ศาลการเปรียญจะแขวน ผ้าผะเหวด เป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร ตั้งแต่กัณฑ์ที่ ๑ ถึงกัณฑ์สุดท้าย
บุญผะเหวด หรืองานบุญมหาชาติ คืองานมหากุศล ให้รำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ คือ ความดีที่ยิ่งยวด อันมีการสละความเห็นแก่ตัว เพื่อผลคือ ประโยชน์สุขอันไพศาลของมวลชนมนุษย์ชาติ เป็นสำคัญ ดังนั้น บรรพชนชาวไทยอีสานแต่โบราณ จึงถือเป็นเทศกาล ที่ประชาชนทั้งหลายพึงสนใจร่วมกระทำบำเพ็ญ และได้อนุรักษ์สืบทอดเป็นวัฒนธรรมสืบมา จนถึงอนุชนรุ่นหลังที่ควรเห็นคุณค่า และอนุรักษ์เป็นวัฒนธรรมสืบไป