มโนปณิธานของพระราชกิจจาภรณ์ (๒๐) การศึกษาของพระเณรในยุคดิจิตอล
มโนปณิธานของท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ ในคราวที่แล้ว กล่าวถึงการถ่ายทอดความคิดจากเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) หลังถูกเรียกตัวกลับสำนักวัดสระเกศ เมื่อครั้งยังเป็นพระมหาเทอด ญาณวชิโร
การกลับไปครั้งนี้หลวงพ่อสมเด็จเริ่มสอนให้คิด ให้มองคณะสงฆ์แบบภาพรวม ไม่ให้มองจุดใดจุดหนึ่ง หรือมุมใดมุมหนึ่ง สอนให้มีชุดความรู้ และชุดความคิดหลายๆ ชุด สอนให้เห็นว่า การปกครองคณะสงฆ์เป็นสิ่งสำคัญ
เพราะเป็นกลไกให้พระศาสนาเดินไปได้อย่างมีทิศทาง ไม่ใช่ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ
“หลวงพ่อสมเด็จบอกเสมอว่า มีผู้อยากให้คณะสงฆ์อ่อนแอ อ่อนกำลัง จึงพยายามทำลายระบบการปกครองคณะสงฆ์ เหมือนพยายามตัดเส้นเอ็นออกจากกระดูก ในที่สุดพระศาสนาก็เดินต่อไปไม่ได้ เพราะไร้ทิศทาง คณะสงฆ์จึงต้องฝากพระศาสนาไว้กับงานเผยแผ่ ทำงานเผยแผ่กันให้มาก การเผยแผ่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการปกครองคณะสงฆ์ แม้การก่อสร้างซ่อมแซมบูรณะวัดวาวิหารเรือนพระเจดีย์ พระเณรก็ต้องทำ รวมไปถึงการช่วยเหลือสงเคราะห์สังคม การศึกษาทั้งนักธรรม บาลี และปริยัติแผนกสามัญ ตลอดจนความรู้อื่นๆ ที่ไม่ขัดพระธรรมวินัย ล้วนเป็นสิ่งสำคัญ เป็นความมั่นคงของพระศาสนา
“ท่านสอนให้มองกว้างออกไปจนถึงต่างประเทศ ต้องนำพระศาสนาออกไปยังต่างประเทศ เป็นการเตรียมหาที่มั่นแห่งใหม่ให้กับพระศาสนา หากพระโสณะพระอุตระไม่เสียสละเดินทางจาริกท่องเที่ยวมา สุวรรณภูมิก็คงไม่ได้เป็นที่มั่นพระศาสนามาจนถึงทุกวันนี้”
พระราชกิจจาภรณ์ ก่อนที่จะไปถึงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ เรามาทำความเข้าใจกับแนวคิดในการสร้างศาสนทายาทฝากไว้ในบวรพระพุทธศาสนาผ่านการบวชเรียนกันต่อ ซึ่งท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ เคยเป็นอาจารย์สอนบาลีตั้งแต่สมัยยังเป็นสามเณร และยังสามารถค้นคิดวิธีการสอนบาลีแนวใหม่เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจภาษาบาลีง่ายขึ้น โดยการสอนหลักไวยากรณ์ควบคู่ไปกับการให้แปลธรรมบท จึงทำให้การเรียนภาษาบาลีนำไปใช้ได้เลย ซึ่งเมื่อใช้ได้ การสอบก็ย่อมง่ายตามมา แล้วท่านก็เมตตาอธิบายต่อมาว่า การบวชเรียนเป็นสิ่งคู่กับสังคมไทยมาแต่เดิม อยากได้วิชาความรู้อะไรต้องไปบวชเรียน ไม่ว่าจะเป็นวิชาหนังสือ วิชารบทัพจับศึกให้ฤกษ์ยาม หมอยา คาถาอาคม และความรู้อื่นๆ สมัยโน้นวิชาเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ เป็นเนื้อหาหลักของการศึกษาชาติยุคโบราณ จะสร้างตน สร้างฐานะ สร้างบ้านเมือง ต้องแสวงหาไว้ใส่ตัว บวชแล้วจึงได้เรียน
“จะว่าไป ประเทศชาติบ้านเมืองเราถูกสร้างขึ้นมาจากรากฐานความรู้ที่มาจากการบวชเรียน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งบวชเป็นพระภิกษุแสวงหาวิชาความรู้ ก็ได้รับการทำนายจากชาวจีนชราว่าจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ผู้คนสมัยนี้ลืมสิ่งที่บรรพชนท่านคิดท่านทำไปหมด ได้ของใหม่กลับมองว่าสิ่งที่ท่านคิดท่านทำนั้นเป็นอวิชชาไปเสียแล้ว
“แม้การบวชของพระเณรสมัยนี้ ก็ยังต้องเรียน สมัยก่อนบวชเรียนเพื่อให้ได้วิชาไปสร้างบ้านแปลงเมือง สมัยนี้แม้วิชาแบบสมัยก่อนจะมีความสำคัญลดน้อยลง แต่ก็มีความรู้อย่างอื่นที่จำเป็นต่องานพระศาสนาที่พระเณรต้องเรียน สืบรุ่นต่อรุ่น และจะให้เรียนบาลีอย่างเดียวก็ค่อนข้างยาก ที่จะรักษาพระศาสนาไว้ได้ เพราะจะทำให้พระเณรไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกและผู้คนในยุคนี้
ที่จริง พระเณรก็คือลูกหลานชาวบ้านคนหนึ่ง และเป็นทรัพยากรบุคคลของชาติพระศาสนา ที่ต้องได้รับการพัฒนาความรู้และความคิด เราต่างก็มีความหวังว่าจะให้พระเณรมีคุณสมบัติที่ดี มีความสมบูรณ์พร้อม แต่ในความเป็นจริง ไม่มีอะไรมีความสมบูรณ์ ความสมบูรณ์มีในจิตพระอริยะเท่านั้น เราต่างมีความบกพร่องอยู่ในตัว”
พระราชกิจจาภรณ์ “แต่ก็ต้องมาดูว่า ความบกพร่องนั้น ทำลายตัวเอง ทำลายระบบสังคม ทำลายระบบองค์กรหรือไม่ ถ้าไม่ได้ทำลายก็ถือว่ายังไปกันได้อยู่ เป็นความบกพร่องแบบกัลยาณปุถุชน คือ ปุถุชนที่ยังอยู่ในฝ่ายดี แต่ถ้าบกพร่องจนถลำลงไปถึงขนาดสร้างความเดือดร้อนแก่ตนเองและสังคม ก็เรียกว่าเป็นอันธพาลปุถุชน คือ ปุถุชนที่อยู่ฝ่ายอันธพาล มืดบอด อันนี้อันตราย
“แม้คนส่วนหนึ่งจะมองพระเณรด้วยชุดความคิดที่ว่า การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ ไม่ใช่การศึกษาของพระพุทธศาสนา เป็นการศึกษาเรื่องทางโลก บางคนอาจมองไกลไปถึงขนาดว่า การที่พระเณรเรียนภาษาอังกฤษ เรียนคอมพิวเตอร์ เรียนวิชาเขียนหนังสือ เป็นต้น เป็นจำพวกเรียนอวิชชา บางคนหนักไปไกลถึงขนาดมองว่า ความรู้เหล่านี้เป็นเดรัจฉานวิชาสำหรับพระเณร
“นั่นคือ ชุดความคิดที่พยายามถูกปล่อยออกมา โดยละเลยที่จะอธิบายความจริงด้วยความคิดอีกชุดหนึ่ง คือ ประเทศชาติบ้านเมืองบรรพชนสร้างขึ้นมาบนรากฐานการบวชเรียนเขียนอ่าน”
(โปรดติดตามมโนปณิธานของพระราชกิจจาภรณ์ ตอนต่อไป วันอังคารหน้า )
มโนปณิธานของพระราชกิจจาภรณ์
พระราชกิจจาภรณ์
(๒๐) การศึกษาของพระเณรในยุคดิจิตอล
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๑
กราบขอบพระคุณ…
ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ เป็นที่สุด ที่เมตตาให้ถ่ายทอดมโนปณิธาน เพื่อเป็นพละ เป็นกำลังในการก้าวเดินบนหนทางสู่ความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงในสังสารวัฏด้วยความเข้าใจในพระพุทธศาสนาอย่างรอบด้าน
ที่มา https://manasikul.com/2018/03/11/มโนปณิธานของพระราชกิจจ-3/