อุบลราชธานียกระดับ งานสงกรานต์ไทอุบล แห่ดอกไม้ ไหว้หลวงพ่อเงิน ๒๕๖๘

ให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์  “ศิลปธรรมสร้างสรรค์สังคมอุดมปัญญา

เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๘ ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลกุดลาด นายปรีดา อุ่นอุดม นายอำเภอเมืองอุบลราชธานี ได้ประชุมร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลกุดลาด และชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลกุดลาด ตลอดจนภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมจัดงาน “สงกรานต์ไทอุบล แห่ดอกไม้ ไหว้หลวงพ่อเงิน ๒๕๖๘” ให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของเมืองอุบลราชธานี ตามนโยบายของรัฐบาล และเพื่ออนุรักษ์สืบสานประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่คู่ชุมชนสืบไป โดยงานจะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑๓ – ๑๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๘
นอกจากนั้น ใน วันที่ ๒๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๘ จะเป็นประเพณีวันเนาว์ ตามแบบอย่างสงกรานต์ดั้งเดิมของชาวอุบลราชธานีซึ่งจะจัดขึ้นที่ เจดีย์บุ่งสระพัง หาดบุ่งสระพัง และ อนุสรณ์สถาน ๑๐๐ ปีชาตกาลพระมงคลธรรม (บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) บริเวณโนนต้นบกใหญ่ ทางลงหาดบุ่งสระพัง

ซึ่งในวันที่ ๑๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๘ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น. เป็นต้นไป เป็นพิธีเปิดงาน โดยจะประกอบพิธีอัญเชิญหลวงพ่อเงิน ๗๐๐ ปี ขึ้นมาจากวัดป่าพระพิฆเณศวร์ ซึ่งเป็นสถานที่ขุดพบหลวงพ่อเงิน ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๕ จากการนิมิตของหลวงปู่พระมงคลธรรมวัฒน์ ซึ่งปีนี้นับเป็นปีที่ ๕๓ ของการอัญเชิญการยกระดับขึ้นจากพื้นดิน โดยขบวนแห่หลวงพ่อเงินจะผ่านมาตามถนนริมหาดบุ่งสระพัง และโนนต้นบกใหญ่
สถานที่ก่อสร้างอนุสรณ์สถาน ๑๐๐ ปีชาตกาลหลวงปู่เจ้าคุณพระมงคลธรรมวัฒน์ แล้วมาบรรจบกับขบวนแห่หลวงพ่อเงินบริเวณโรงเรียนบ้านปากน้ำ จากนั้น จะเคลื่อนขบวนแห่เข้าสู่วัดปากน้ำ
สำหรับขบวนแห่หลวงพ่อเงิน จะประกอบด้วยขบวนขันหมากเบ็งและขันหย่องดอกไม้แบบท้องถิ่นอีสาน ขบวนธงชัยและธงแผ่นผ้า ขบวนต้นเงิน และขบวนประชาชนแต่งชุดพื้นบ้านจากหมู่บ้านในเขตพื้นที่ตำบลกุดลาด
ในวันที่ ๑๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๘ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น. เป็นต้นไป จะอัญเชิญหลวงพ่อเงินไปแห่ดอกไม้ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ตำบลกุดลาด ระหว่างเส้นที่แห่หลวงพ่อเงินผ่านไป ให้ประชาชนเตรียมดอกไม้และน้ำอบน้ำหอมไว้สรง

สำหรับประเพณีแห่ดอกไม้ เป็นประเพณีสงกรานต์อุบลแบบโบราณ ซึ่งได้หายไปจากชุมชนมานานแล้ว โดยประเพณีสงกรานต์ดั้งเดิมของเมืองอุบลราชธานีแต่โบราณนั้น เมื่อวันสงกรานต์มาถึงเข้า ต้องอัญเชิญพระพุทธรูปลงสรง ประชาชนจะออกไปเก็บดอกไม้มาให้หัววัดสรงน้ำพระ ซึ่งดอกไม้ที่บานหน้าแล้งไม่ค่อยมี
นอกจากดอกมันปลาและดอกพะยอมที่บานหน้าแล้งและมีกลิ่นหอม ต้องไปหาเก็บ ตามทุ่ง ตามป่า พอได้ดอกมันปลาหรือพะยอมแล้ว ก็จะแห่เข้าหมู่บ้าน มีฆ้อง กลองตีฟ้อนรำกันมา คนที่ไม่ได้ไปก็จะรอในอยู่ในระหว่างทาง เตรียมน้ำไว้รดสรงให้พระเณรและผู้คนที่ร่วมอยู่ในขบวนแห่ ใครได้ดอกไม้อะไรก็จะฝากให้พระเณรนำไปสรงน้ำพระในวัดด้วย
ซึ่งนอกจากยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติแล้ว รัฐบาลยังได้ประกาศให้งานสงกรานต์เป็นซอฟต์พาวเวอร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย

ดังนั้นอำเภอเมืองอุบลราชธานี จึงได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลกุดลาด และชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลกุดลาด ส่งเสริมประเพณีแห่ดอกไม้ของจังหวัดอุบลราชธานีขึ้นมา ให้เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของจังหวัดอุบลราชธานี โดยปรับรูปแบบให้เข้ากับบริบทของบ้านเมืองปัจจุบัน เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่คู่ชุมชนสืบไป

นอกจากอำเภอเมืองอุบลราชธานีจะจัด งานสงกรานต์ไทอุบล แห่ดอกไม้ ไหว้หลวงพ่อเงิน ๒๕๖๘ ให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของเมืองอุบลราชธานีแล้ว เนื่องในโอกาส ๑๐๐ ปีชาตกาลหลวงปู่เจ้าคุณพระมงคลธรรมวัฒน์ (ญาท่านบุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ(บุ่งสระพัง) ผู้นิมิตเห็นหลวงพ่อเงินและฆ้องทองคำใหญ่ในดงพระคเณศ คณะศิษย์จะดำเนินการสร้างอนุสรณ์สถาน รูปหล่อ และหนังสือผูกใบลานลำมหาชาติ สำนวนเทศน์ทำนองเดิมเมืองอุบลราชธานี เพื่อเป็นอนุสรณ์

จึงขอเชิญพุทธศาสนิกชนร่วมเป็นเจ้าภาพ สร้างอนุสรณ์สถาน ๑๐๐ ปีชาตกาล ได้ตามกำลังศรัทธา
โดยภาคส่วนที่เข้าประชุมประกอบด้วย

นายปรีดา อุ่นอุดม นายอำเภอเมืองอุบลราชธานี
นายสุวรรณ บุญจูง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกุดลาด
พระมหาสุวัฒน์ กิตฺติเมธี เลขานุการรองเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ (บุ่งสระพัง)
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปากน้ำ
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลผาแก้ว
ผู้นำชุมชน, ส.อบต. ทั้ง ๑๔ หมู่ในตำบลกุดลาด


งานสงกรานต์ไทอุบล แห่ดอกไม้ ไหว้หลวงพ่อเงิน ๒๕๖๘

 

“ประมวลภาพ งานแห่หลวงพ่อเงิน “

ประมวลภาพ ขบวนอัญเชิญหลวงพ่อเงิน และพิธีเปิดงานนมัสการ สรงน้ำ ปิดทอง หลวงพ่อเงิน ๗๐๐ ปี 2562